Welcome to The Official Website of The National Y2K Coordination Committee
Y2K Newsletters

การประชุมคณะกรรมการประสานงานการแก้ไข
ปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000

          จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2541 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) เป็นประธาน และมีกรรมการประกอบไปด้วยผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานระดับกระทรวงทุกกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีหน้าที่ และองค์ประกอบ ดังนี้

หน้าที่ :

  1. ประสานงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของกระทรวง ทบวง และหน่วยงานอิสระ ในการดำเนินงานเรื่องการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000
  2. จัดทำแนวทางและวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 รวมทั้งการเตรียมความพร้อมกรณีที่เกิดปัญหาในปี ค.ศ. 2000 (Contingency Plan)
  3. รวบรวมรายงานภาพรวมและสถานภาพการประเมินและการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจทุกแห่งแก่คณะรัฐมนตรีทุกสองเดือน โดยมีอำนาจในการสอบถามและขอทราบรายงานความก้าวหน้าของการ แก้ปัญหาจากทุกหน่วยงานตามความเหมาะสม
  4. ดำเนินการประชาสัมพันธ์ แก่สาธารชนเพื่อสร้างความตื่นตัว และความเข้าใจในปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 และการดำเนินงานของรัฐบาลในเรื่องนี้
  5. จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการต่างๆ ได้ตามความจำเป็น และเหมาะสม

องค์ประกอบ :

รองนายกรัฐมนตรี
(ประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ)
ประธานกรรมการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รองประธานกรรมการคนที่ 1
ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รองประธานกรรมการคนที่ 2
รองปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
ประธานคณะกรรมการเพื่อประเมินและแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ในระดับกระทรวง/ทบวง กรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือผู้แทน กรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้แทน กรรมการ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน กรรมการ
ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการ
ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด กรรมการ
ประธานสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน กรรมการ
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน กรรมการ
ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน กรรมการ
นายกสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย หรือผู้แทน กรรมการ
นายกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย หรือผู้แทน กรรมการ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

          คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 ที่ห้องประชุม อาคารรัฐสภา ซึ่งมีประเด็นจากการประชุมที่มีความสำคัญและเป็นสิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ควรจะได้รับทราบในหลายๆ ประเด็น ที่สรุปได้คือ

          ท่านรองนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ได้ให้นโยบายว่า ปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยต่อการดำเนินกิจการต่างๆ ในประเทศ และการติดต่อกับนานาประเทศ และเห็นว่าสาขาที่จะต้องเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาโดยเร็วอย่างยิ่ง อาทิ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประเทศชาติและประชาชน การคมนาคมขนส่งทั้งทางบก เรือ และอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ในส่วนการเงินการธนาคาร และธุรกิจการค้าซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานด้วยกัน ในส่วนของสาธารณูปโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็จำเป็นต้องเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมอีกเป็นจำนวนมากที่จำเป็นจะต้องเร่งรัดให้มีการดำเนินการโดยเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อจะได้ประเมินสภาพของปัญหาที่ชัดเจน การประมาณการงบประมาณเพื่อสำนักงบประมาณจะสามารถเตรียมพิจารณา การจัดทำแผนงานเพื่อการแก้ไขปัญหาในระดับต่างๆ ตลอดจนการวางแผนกำลังคนเพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ได้มีการสำรวจพบ หรือการแก้ไขและการจัดทำแผนรองรับต่อไป

ซึ่งมาตรการที่เร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการภายหลังการประชุม ได้แก่

  1. ให้หน่วยงานที่ยังไม่ได้ส่งรายงานการสำรวจในครั้งแรกๆ ขอให้เร่งส่งให้เนคเทค ซึ่งเป็นหน่วยกลางในการประสานงานในเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อจะได้รวบรวมและรายงานต่อคณะกรรมการฯ เนื่องจากยังมีหน่วยงานระดับกรมที่ยังไม่ได้ส่งรายงานผลการสำรวจและประเมินปัญหาอีกประมาณร้อยละ 30 - 40 กล่าวคือ ผลการสำรวจจนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 มีผลโดยสรุปดังนี้
    1. จำนวนหน่วยงานระดับกระทรวง/ทบวง/หน่วยงานอิสระ
    ที่ต้องรายงาน 16 หน่วย
    รายงานแล้ว 16 หน่วย
    คิดเป็นร้อยละ 100

    2. จำนวนหน่วยงานระดับกรม
    ที่ต้องรายงาน 208 หน่วย
    รายงานแล้ว 139 หน่วย
    คิดเป็นร้อยละ 66.82

    3. จำนวนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
    ที่ต้องรายงาน 68 หน่วย
    รายงานแล้ว 54 หน่วย
    คิดเป็นร้อยละ 76.47

    4. ยอดเงินงบประมาณที่คาดว่าจะต้องใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ณ ขณะที่มีการสำรวจนี้
    : หน่วยงานภาครัฐ 568,389,143 บาท
    : หน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจ 2,055,787,000 บาท

    ทั้งนี้ ประธานฯ ได้ย้ำให้หน่วยงานต่างๆ เร่งรัดการตรวจสอบและประเมินสภาพปัญหา พร้อมทั้งจัดทำรายการอุปกรณ์ที่มีปัญหา และการประเมินผลกระทบ (Impact Analysis) พร้อมทั้งกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2541

  2. ให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมเสนอขอแปรบัญญัติต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณ ซึ่งจะเริ่มในปลายเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเป็นงบประมาณสำหรับการแก้ไขปัญหาในปีงบประมาณ 2542 ในกรณีที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณปี 2542 ไว้ หรืออาจตั้งไว้ไม่เพียงพอ
  3. ให้ทุกกระทรวงเตรียมดำเนินการจัดทำแผนแม่บท Y2K ของแต่ละกระทรวงแยกออกจากแผนแม่บทสารสนเทศที่กำลังจัดทำอยู่ เพื่อให้คณะกรรมการฯ สามารถติดตามแผนการแก้ไขปัญหา Y2K ได้อย่างชัดเจน โดยขอให้จัดทำและส่งให้เนคเทครวบรวมเสนอต่อคณะกรรมการฯ ต่อไป
  4. ให้เนคเทคดำเนินการสำรวจความพอเพียงของกำลังคนที่มีความสามารถที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา Y2K ทั้งหมดทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และหากจำเป็นก็อาจจัดให้มีหลักสูตรการพัฒนากำลังคน โดยขอให้เนคเทคร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ และทบวงมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และอาจให้ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ลงใน Web Site เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
  5. ให้สภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้า รับหน้าที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชน ในการประสานงานกับเนคเท เพื่อการแก้ไขปัญหา Y2K ในภาคเอกชน
  6. ให้เนคเทคเร่งดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้มากขึ้น ทั้งนี้เนคเทคจะทำหน้าที่ในการประสานงานทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ
  7. ให้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนสำหรับการแก้ไขปัญหาในระบบที่มีความสำคัญในระดับต่างๆ กัน
  8. ให้ทุกหน่วยงานจัดทำรายงานความก้าวหน้าในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ส่งฝ่ายเลขานุการฯ เป็นประจำทุกเดือน
  9. ให้ทุกหน่วยงานจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ โดยจัดส่งให้ฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อรวบรวมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกสองเดือน
  10. ให้หน่วยงานต่างๆ ให้ข้อมูลในการแก้ไขและกำหนดเวลาสิ้นสุดของการแก้ไขปัญหา และการปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์เมื่อการมีการสำรวจโดยฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อแสดงความพร้อมสำหรับปี ค.ศ. 2000 และเพื่อการเตรียมการด้านงบประมาณในการแก้ไขปัญหา
  11. ให้ทุกหน่วยงานเตรียมจัดทำแผนรองรับ (Contingency Plan) ของแต่ละกระทรวง และทบวง รวมทั้งหน่วยงานอิสระ นำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อประเมินสถานภาพและความพร้อมในปี ค.ศ. 2000 ในภาพรวมของประเทศ และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

          จะเห็นว่าภาระหน้าที่การแก้ไขปัญหา Y2K ที่ได้จากการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการฯ ก็ลำดับออกมาเป็นภารกิจที่สำคัญและเร่งด่วนทั้งสิ้น หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องมีภาระรับผิดชอบต้องปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ก็คงจะรีรอไม่ได้ เนื่องจากระยะเวลาของการดำเนินงานในแต่ละเรื่องมีเวลาสั้นนัก ซึ่งเนคเทคเองก็อยู่ในข่ายที่จะต้องเร่งดำเนินการต่างๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่สะดุด ชะงัก

          จดหมายข่าวนี้จะเป็นสื่อที่จะแจ้งความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ ให้หน่วยงานต่างๆ ได้ทราบโดยเร็ว รวมทั้งการติดต่อประสานงานที่ไม่เป็นทางการต่างๆ ก็สามารถส่งตรงไปยังศูนย์ประสานและดำเนินการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 หรือเรียกสั้นๆ ว่า Y2K Center ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นในศูนย์เนคเทค เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา Y2K เพื่อให้การประสานงานติดต่อต่างๆ ไม่กระจัดกระจาย และตอบสนองเรื่องต่างๆ ได้รวดเร็ว

line.GIF (5301 bytes)

[Y2K Center] [Y2K FAQ] [Y2K Services] [Y2K Tools] [Newsroom] [Publication] [Feedback]

Please send your comment to y2kcenter@nectec.or.th
Copyright ฉ 1998 NECTEC / NSTDA All Rights Reserved.
National Electronics and Computer Technology Center, National Science and Technology Development Agency.
Ministry of Science Technology and Environment