Welcome to The Official Website of The National Y2K Coordination Committee
Publications

แนวนโยบายในการแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์
ปี ค.ศ. 2000
คำบรรยายของ
ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ คุณกิตติ)

ในงานสัมมนาเรื่อง "คอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 : นโยบายและแนวทางการแก้ไขในภาครัฐ"
ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
วันที่ 20 สิงหาคม 2541

          ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ท่านปลัดกระทรวงฯ ท่าน ผู้บริหาร และท่านผู้เข้าสัมมนาที่เคารพ

          ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่มีโอกาสมาบรรยายเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในรอบหนึ่งพันปีในวันนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งจนกระทั่งฝรั่งเรียกว่า เป็น "ความผิดพลาดแห่งสหัสวรรษ" หรือ Millennium Bug

          ความผิดพลาดและแนวทางแก้ปัญหาที่ผมจะบรรยายต่อไปนี้ต้องถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญของการทำงานที่ปราศจากแผนงาน ขาดการไตร่ตรอง และขาดการมองออกไปสู่อนาคตอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน ผลก็คือ เราต้องมาคอยแก้ปัญหาความผิดพลาดในช่วงนี้ และเป็นการแก้ปัญหาที่เราไม่ควรจะต้องเสียเวลาแก้ในช่วงที่เรากำลังมีปัญหาเดือดร้อนจากทางด้านเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป แต่ครั้นจะไม่แก้ก็ไม่ได้ เพราะความผิดพลาดที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์นั้นจะทำให้เกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวงมากขึ้นไปได้อีก ทั้งในระดับองค์กร ระดับชาติ และระดับประเทศ

          ยิ่งใกล้วันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ. 2000 เข้ามาเท่าใด เราก็ยิ่งมีเวลาสำหรับแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 น้อยลงเพียงนั้น ขณะนี้เรามีเวลาเหลือไม่ถึงห้าร้อยวันแล้ว คือมีเพียง 498 วัน สำหรับดำเนินการแก้ไขและทดสอบการแก้ไขว่าดำเนินไปอย่างถูกต้อง ในความเป็นจริงนั้น ณ วันนี้เราควรจะดำเนินการแก้ไขปัญหาในคอมพิวเตอร์ทุกระบบเสร็จสิ้นไปแล้ว และใช้เวลาที่เหลือจนกระทั่งถึงสิ้นปี 1999 สำหรับการทดสอบว่าระบบที่แก้ไขนั้นจะทำงานได้ถูกต้องตลอดเวลา และไม่มีปัญหาเหลืออยู่อีก

          แม้ว่าเราจะตื่นตัวเรื่องนี้ช้าไปบ้าง แต่อย่างน้อยเวลานี้ทางคณะรัฐมนตรีก็ได้เริ่มตระหนักถึงปัญหา และได้สั่งการในเรื่องนี้ไปแล้วสองครั้ง ครั้งแรกคือ เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ผมได้ขอให้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ซึ่งผมเองก็ได้ช่วยชี้แจงให้ทาง ครม. ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดหากไม่เร่งรีบดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ หลังจากการพิจารณาแล้ว ครม. ก็ได้มีมติให้กระทรวงต่างๆ รีบแต่งตั้งกรรมการขึ้นสำรวจว่า ระบบคอมพิวเตอร์ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จะได้รับผลกระทบจากปัญหาคอมพิวเตอร์กับปี 2000 หรือไม่ ผลกระทบนั้นจะมากน้อยเพียงใด ครม. สั่งให้ทุกหน่วยงานรีบเร่งประเมินค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหานี้ ถ้าหากจำเป็นก็ให้หน่วยงานเร่งรัดจัดหา หรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ได้ขอไว้แต่เดิมมาใช้ในการแก้ปัญหาโดยด่วน อีกทั้งยังให้เนคเทคเป็นศูนย์กลางในการประสานงานการแก้ไขปัญหานี้ด้วย

          เมื่อทาง ครม. ได้ลงมติไปแล้ว ทางเนคเทคก็เริ่มดำเนินการติดตามการแก้ไขปัญหา Y2K ของหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งได้ออกแบบสำรวจให้แต่ละหน่วยงานเร่งรีบดำเนินการตรวจสอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ Non IT อื่นๆ ที่อาจจะมีคอมพิวเตอร์ฝั่งอยู่ และให้ประเมินกลับมาขั้นต้นว่าจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการเท่าใด เรื่องนี้ผมเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องที่ยาก และอาจจะไม่สามารถหาตัวเลขได้ชัดเจนนักในเวลาอันสั้น แต่กระนั้นก็เป็นเรื่องที่ผมจำเป็นจะต้องทราบ มิฉะนั้นแล้วผมก็จะช่วยวางแผนและควบคุมการแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้

          ข้อที่น่ายินดีคือ ทุกหน่วยงานก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอันดี จนถึงขณะนี้เข้าใจว่าทางเนคเทคได้รับ คำตอบจากหน่วยงานต่างๆ ครบแล้ว หากจะขาดไปบ้างก็อาจจะเป็นเพราะความเข้าใจผิด คิดว่าแก้ไขปัญหาแล้วจึงไม่ได้ตอบกลับมา

          ต่อมาครั้งที่สอง ผมได้พิจารณาเห็นว่าเรื่องการแก้ปัญหา Y2K นี้เป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้างขวาง และต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ผมจึงขอให้ทางเนคเทคเสนอเรื่องมาให้ทาง ครม. พิจารณาเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อประสานงานและดำเนินงานแก้ไขอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ครม. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นตามที่ทางเนคเทคเสนอและมอบหมายให้ผมทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ ฯ ชุดนี้ ให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานคนที่ 1 ให้ ท่านปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นรองประธานคนที่สอง ส่วนกรรมการอื่นๆ ก็ได้แก่ ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 จากทุกกระทรวง และผู้แทนจากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย รวมแล้วก็เป็นคณะกรรมการฯ ที่ใหญ่มากอยู่

          เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ ผมได้เรียกประชุมคณะกรรมการประสานงานชุดใหญ่นี้เป็นครั้งแรกที่ห้องประชุมในอาคารรัฐสภา ปรากฏว่ากรรมการฯ มากันคับคั่ง และทางเราเองก็ได้เชิญท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คุณพรเทพ เตชะไพบูลย์ มาเข้าประชุมด้วย ในการประชุมครั้งนี้ ผมได้ให้นโยบายว่า เราจะต้องเร่งรีบแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ในระบบสำคัญๆ ของประเทศก่อน อาทิ ระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ กลุ่มทางด้านไฟฟ้า น้ำประปา การสื่อสารโทรคมนาคม การขนส่ง และพลังงาน ระบบการเงินการธนาคาร ระบบความมั่นคงของประเทศ ระบบความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของตำรวจ การตรวจลงตราหนังสือเดินทาง และที่สำคัญก็คือ ระบบที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจและการพาณิชย์ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากและเราจะปล่อยให้เสียหายไม่ได้ ผมกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะต้องเร่งรีบตรวจสอบและแก้ไขปัญหาโดยด่วน

          ในระหว่างการประชุมนั้น เนคเทคได้เสนอรายงานการสำรวจที่ได้รับคำตอบจากหน่วยงานต่างๆ ปรากฏว่าขณะนั้นได้รับคำตอบมาเพียงครึ่งเดียว และผลการประเมินก็ระบุว่าจะต้องใช้เงินในการแก้ไขปัญหาประมาณสองพันล้านบาท เรื่องนี้ผมได้กำชับกรรมการฯ ว่าทาง ครม. ถือว่าเรื่องนี้สำคัญมาก ต้องให้หน่วยงานทุกแห่งรายงานการแก้ไขให้ทราบ ผมได้กำหนดว่าจะต้องรีบส่งรายงานขั้นต้นกลับมาภายในวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งก็ทำให้เราได้ตัวเลขมาครบแล้ว

          ตามหลักการแก้ไขปัญหา Y2K นั้น การสำรวจอุปกรณ์นี้ถือว่าเป็นขั้นที่สองของการดำเนินการแก้ไข ขั้นแรกก็คือ การสร้างความตื่นตัว เหมือนอย่างที่เราได้ทำกันมาโดยตลอดตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่การสำรวจนี้ ทำให้เราทราบเป็นขั้นต้นเท่านั้นว่าเรามีปัญหาอะไร มากน้อยแค่ไหน ยังไม่สามารถกำจัดปัญหาให้หมดสิ้นไปได้ การลงมือแก้ปัญหานั้นจะต้องเริ่มด้วยการวางแผนการที่ดีก่อน ด้วยเหตุนี้ผมจึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรีบจัดทำแผนการแก้ปัญหา Y2K ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ผมได้ทราบว่าหน่วยงานหลายแห่งก็ได้เริ่มวางแผนนี้ไปแล้ว แต่อีกหลายแห่งอาจจะยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะไม่รู้จะวางแผนอย่างไร

          ในเรื่องแผนนี้ ทางเนคเทคได้จัดทำเอกสารคู่มือการทำแผนแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์กับปี ค.ศ. 2000 ออกมาเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้แจกจ่ายให้หน่วยงานต่างๆ ไปแล้ว แต่สำหรับวันนี้ก็ได้นำมาแจกให้แก่ท่านทั้งหลายในที่นี้อีก หากใครยังไม่ได้วางแผนก็ขอให้ใช้กรอบที่แจกไปนี้เป็นแนวทางได้

          ท่านผู้มีเกียรติครับ

          มีคำถามว่า กรรมการทั้งระดับชาติ และระดับกระทรวงจะช่วยแก้ไขปัญหา Y2K ได้จริงละหรือ โดยเฉพาะในเมื่อประเทศของเรากำลังขาดสภาพคล่อง เม็ดเงินก็ไม่ค่อยจะมีใช้

          เรื่องนี้ผมเองก็ยอมรับว่าหนักใจ แต่ถึงแม้จะเป็นปัญหา เราก็ต้องพยายามหาทางแก้ไขเหมือนกับเราป่วยเป็นไข้ขึ้นมานี่นะครับ ถึงเราจะไม่มีเงินทองมากมายนัก เราก็จำเป็นจะต้องไปหาหมอ เพื่อรักษาไข้ และประทังชีวิตให้รอดไปได้ก่อน ถ้าหากเราไม่รักษา เราอาจจะไม่มีชีวิตรอดต่อไปก็ได้

          ปัญหา Y2K ก็เช่นกัน หากเราประสบปัญหานี้เราก็ต้องแก้ไข ไม่แก้ไม่ได้ เพราะปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องของการเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่เป็นไข้ทรพิษ หรือเป็นโรคระบาดที่อาจจะติดต่อไปถึงคนอื่นได้

          หลายคนอาจสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เรื่องนี้ขอเรียนว่าเพราะเวลานี้คอมพิวเตอร์ในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่อเชื่อมถึงกันเป็นเครือข่ายครับ เรามีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตใช้ เรากำลังพัฒนา เครือข่าย EDI ให้กับกรมศุลกากรใช้ เรามีเครือข่ายสื่อสารการบินที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก ดังนั้นหากคอมพิวเตอร์ของท่านทำงานผิด และจัดทำข้อมูลผิดพลาดออกมาเป็นเอาท์พุตไปสู่คอมพิวเตอร์อื่นๆ ก็จะทำให้เกิดความ เสียหายแก่คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นไปด้วย

          ตรงนี้แหละครับที่ผมเป็นห่วงมาก เพราะหากบริษัทต่างประเทศเขาไม่เชื่อใจว่าเราแก้ไขปัญหา Y2K จริงจัง แล้วเขากลัวว่าเราจะนำเอาโรคระบาด Y2K ไปสร้างความลำบากให้แก่เขา เขาก็อาจจะไม่ยอมคบค้าสมาคมกับเรา เขาไม่ยอมให้เราทำธุรกิจผ่านธนาคารไทย ไม่ยอมให้เราสื่อสารกับเขา ไม่ยอมสั่งซื้อสินค้าไทย ไม่ยอมมาเปิดสาขาทำงานในไทย อย่างนี้ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของเราทรุดโทรมมากขึ้นไปอีก

          ดังนั้นเราจึงต้องเร่งรีบแก้ไข และการแก้ไขนี้ก็จำเป็นจะต้องใช้เงิน เรื่องงบประมาณนี้ทางท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ลองเจรจากับมิตรประเทศเพื่อหาหนทางที่จะกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมาให้หน่วยงานต่างๆ ใช้ในการกู้แล้ว ท่านบอกว่ามิตรประเทศก็เข้าใจและยินดีที่จะพิจารณาเรื่องนี้ให้เป็นพิเศษ หากทางรัฐบาลไทยขอร้องไป เรื่องนี้ทางเนคเทคและ สวทช. กำลังดำเนินการในการเขียนโครงการเงินกู้นี้อยู่

          มีคำถามว่า เมื่อกู้ได้มาแล้วจะทำอย่างไร คำตอบก็คือ จะต้องมีกรรมการพิจารณาข้อเสนอขอใช้เงินกู้จากหน่วยงานต่างๆ สำหรับนำไปแก้ไขปัญหา Y2K ในหน่วยงานนั้นๆ ผมเข้าใจว่าจะมีข้อเสนอมามาก ข้อเสนอบางอย่างก็คงเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาโดยตรง แต่อีกบางเรื่องก็อาจจะเป็นเรื่องการขอเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ ในเรื่องนี้ผมคิดว่าจะต้องให้มีคณะทำงานหลายๆ คณะเพื่อพิจารณากลั่นกรองโครงการและการกู้เงินของหน่วยงานต่างๆ หากเห็นว่าโครงการของใครดีมีเหตุผล และหากไม่แก้ไขก็จะเป็นปัญหาใหญ่ ก็จะเร่งรีบอนุมัติให้กู้ได้ ต่อจากนั้นคณะทำงานก็จะเสนอเรื่องขึ้นมาให้คณะอนุกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหา Y2K เพื่อพิจารณาอีกหนึ่ง

          คณะอนุกรรมการที่ผมกล่าวถึงนี้เป็นคณะอนุกรรมการที่ทางกรรมการใหญ่ได้อนุมัติให้แต่งตั้งขึ้นเพื่อควบคุมดูแลการกู้เงิน การจัดสรรเงินกู้ และการบริหารงานการติดตามและประสานงานการแก้ไขปัญหา Y2K เป็นประจำ คณะอนุกรรมการนี้มีท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน

          สำหรับทางเนคเทคนั้นผมได้ให้นโยบายว่า จะต้องเร่งรีบดำเนินการวางแนวทางในการติดตามการ แก้ไขปัญหา คิดค้น และศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาแบบต่างๆ ที่มีผู้ทดลองใช้แล้วได้ผลนำรายละเอียดเหล่านี้มาเผยแพร่ ซึ่งเรื่องนี้เราทำกันอยู่เป็นประจำ แม้แต่การจัดงานในวันนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นงานตามแผนงานประชาสัมพันธ์เผยแพร่ของเนคเทค นอกจากนั้นเนคเทคก็ได้สะสมความรู้ที่ศึกษาค้นคว้ามาได้เอาไว้ในโฮมเพจของเนคเทค และยังได้ดำเนินการตอบคำถามและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย

          เมื่อพูดถึงภาคเอกชนนั้น ผมได้รับคำถามว่าทำไมจึงดูแลแต่ภาครัฐ ไม่เอื้อเฟื้อไปถึงภาคเอกชนด้วย เรื่องนี้ผมขอเรียนว่า เดิมทีภาครัฐนั้นเป็นฝ่ายที่ถูกตำหนิว่าทำอะไรช้า ภาคเอกชนเขาแก้ไขปัญหานี้ไปถึงไหนๆ แล้ว ภาครัฐยังไม่ตื่นตัว แต่เมื่อเร็วๆ นี้เอง ผมอ่านข่าวพบว่าคุณมนู อรดีดลเชษฐ์ นายกสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย ออกมาให้ข่าวว่า ภาคเอกชนยังค่อนข้างช้า ข่าวนี้ความจริงผมไม่ค่อยแปลกใจนัก เพราะภาคเอกชนไทยเวลานี้มัวแต่ใช้เวลาพยุงตัวเองให้รอดพ้นวิกฤติการณ์ บ้างก็ใช้เวลาประนอมหนี้ และบ้างก็มัววิ่งหนีเจ้าหน้าที่ ไม่เป็นอันทำอะไรมากนัก ดังนั้นการที่จะคิดแก้ปัญหา Y2K จึงยังไม่อยู่ในหัวสมอง

          อย่างไรก็ตาม ผมอยากเรียนว่าไม่ต้องเป็นห่วงมากนักครับ แม้ว่าเราจะดูแลภาคราชการเป็นส่วนใหญ่ แต่ทางเนคเทคก็ยินดีที่จะให้คำปรึกษา และให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาแก่ภาคเอกชนด้วยเหมือนกัน เรื่องนี้ขอให้ติดต่อกับเนคเทคโดยตรง

          ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ

          จนถึงขณะนี้ท่านคงจะวางใจได้ว่า รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องปัญหา Y2K ได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ อยู่แล้ว ผมอยากฝากบอกให้ถึงประเทศอื่นๆ ด้วยว่า รัฐบาลไทยเราสนใจที่จะกำจัดปัญหา Y2K ให้หมดไปก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 อย่างแน่นอน แต่ถึงจะแก้ได้ไม่หมด แต่สำหรับระบบใหญ่ๆ ระบบหลักๆ ระบบที่เป็นแบบ Mission Critical นั้น เราเชื่อว่าจะแก้ได้หมดทุกระบบครับ

          ที่สำคัญคือ เราให้ความมั่นใจว่า หากคอมพิวเตอร์ของประเทศอื่นๆ จะเสียหายเพราะปัญหา Y2K แล้วละก็ รับประกันว่าปัญหาความผิดพลาดนั้นจะไม่ได้มาจากคอมพิวเตอร์ของภาครัฐของไทยอย่างแน่นอน

          สวัสดีครับ

line.GIF (5301 bytes)

[Y2K Center] [Y2K FAQ] [Y2K Services] [Y2K Tools] [Newsroom] [Publication] [Feedback]

Please send your comment to y2kcenter@nectec.or.th
Copyright ฉ 1998 NECTEC / NSTDA All Rights Reserved.
National Electronics and Computer Technology Center, National Science and Technology Development Agency.
Ministry of Science Technology and Environment