Y2K Thailand
Return to Y2K homepage
The Y2K information center
Y2K FAQ
Y2K Services
Y2K Tools
Y2K Newsroom
Our Y2K publication
Send your question and feedback to us
Newsroom

คำบรรยายของ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์)
เรื่อง "นโยบายและการเตรียมความพร้อมรับการแก้ไขปัญหา Y2K ระดับจังหวัด"
ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
วันที่ 26 สิงหาคม 2542

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

         กระทรวงมหาดไทยขอขอบคุณคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ ปี ค.ศ 2000 เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้จัดให้มีการสัมมนาผู้บริหารของจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 หรือ ปัญหา Y2K ในระดับจังหวัดขึ้นในวันนี้ เนื่องจากต้องยอมรับว่าบุคลากรของจังหวัดส่วนใหญ่ ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเท่าที่ควร ในขณะที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และขณะนี้เวลาในการเตรียมการเพื่อแก้ไขปัญหาก็เหลือไม่มากเท่าใดนัก ดังนั้นการสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ผู้บริหารของจังหวัดมีความเข้าใจและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยมีเรื่องที่จะขอฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหา Y2K ไว้ 2 - 3 ประการ ดังนี้

         ประการแรก ผมขอเรียนว่าปัญหา Y2K เป็นปัญหาสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งแม้จะมีการเตรียมการแก้ไขอย่างดีแล้ว แต่ก็ไม่มีใครรับรองได้ว่า เมื่อถึงปี ค.ศ. 2000 ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น แม้แต่หน่วยงานในต่างประเทศซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์ และเชื่อว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็ยังต้องจัดทำแผนสำรองฉุกเฉินไว้รองรับด้วย ดังนั้น เราเองก็ต้องไม่ประมาท ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง และจะต้องจัดทำแผนสำรองฉุกเฉินไว้รองรับด้วยเช่นเดียวกัน

         ผมขอเรียนเพิ่มเติมให้ท่านทราบถึงข้อมูล รายงานการเตรียมความพร้อมเพื่อการแก้ไขปัญหา Y2K ของประเทศไทยโดยรวม ซึ่งจัดทำโดย Garner Group เมื่อเดือนต้นปี 2542 ที่ผ่านมา ได้ประเมินผลและจัดลำดับประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหามากกว่า 70 % ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเทียบเท่าประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา แต่อย่างไรก็ตาม ผมทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยก็ไม่ได้ประมาท หลายหน่วยที่แก้ไขปัญหาแล้วเสร็จได้ตรวจสอบทบทวน และจัดทำแผนสำรองฉุกเฉินไว้รองรับด้วย รวมทั้งได้มีการจำลองสถานการณ์เสมือนว่าเกิดปัญหาขึ้นจริงและซักซ้อมปฏิบัติตามแผนสำรองฉุกเฉินที่วางไว้

         สำหรับในระดับจังหวัดนั้น ผมขอฝากให้ทำความเข้าใจกับทุกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในจังหวัด ให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา Y2K และตรวจสอบทบทวนให้มากยิ่งขึ้น และเตรียมแผนสำรองฉุกเฉินไว้รองรับในห้วงเวลาของจุดผ่านที่จะเกิดเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เน้นระบบงานสำคัญยิ่งยวดที่มีผลกระทบต่อประชาชน เช่น ไฟฟ้า ประปา เครื่องมือแพทย์ สนามบิน หรือเขื่อน เป็นต้น

         ประการที่ 2 ระดมสรรพกำลังในพื้นที่ มาร่วมมือกันเพื่อเตรียมรับมือต่อปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานภาคเอกชน เนื่องจากปัญหา Y2K ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ ควรให้ทุกฝ่ายเกิดความ "ตระหนัก" ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหา แต่พึงระวังอย่าให้กลายเป็นความ "ตื่นตระหนก" ขึ้นได้

         ในการแก้ไขปัญหานั้น ขอท่านอย่าได้กังวลว่า ท่านไม่ความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ ไม่รู้ว่าจะตรวจสอบหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ขอให้ใช้วิธีทางการบริหารจัดการ เช่น ตรวจสอบว่าอุปกรณ์และระบบงานที่คาดว่าจะเกิดปัญหาได้มาจากไหน ต่อจากนั้นจึงให้ประสานงานการแก้ไขกับหน่วยงานนั้นโดยใกล้ชิด หรือหากเป็นอุปกรณ์และระบบงานที่จังหวัดจัดหาเอง ก็ให้แจ้งบริษัทผู้ขายตรวจสอบและออกหนังสือรับรองให้ หากไม่เป็นผลอาจขอความร่วมมือสถาบันการศึกษาช่วยตรวจสอบและแก้ไขให้

         ประการสุดท้าย ในขั้นของการเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ และการจัดทำแผนสำรองฉุกเฉิน ให้ประสานการจัดทำกับหน่วยงานต้นสังกัดในส่วนกลาง และประสานกับแผนป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติที่เคยมีการจัดทำไว้แล้ว เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในการปฏิบัติ รวมทั้งให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหา Y2K ในระดับจังหวัดขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกลางของจังหวัด หรือวินิจฉัยสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันที

         เท่าที่ได้ติดตามและประสานงานกับคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ทราบว่าระบบสำคัญยิ่งยวดต่างๆ ไม่น่าจะมีปัญหาถึงขั้นวิกฤต ถึงขั้นน้ำไม่ไหล ไฟฟ้าดับ แต่ขอย้ำว่าอย่าได้ประมาท หากติดขัดประการใดหน่วยงานในส่วนกลางพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยง หรือประสานเพื่อให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและจัดทำแผนสำรองฉุกเฉินแก่จังหวัด ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนมาแล้ว เช่น ภัยธรรมชาติ ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งท่านสามารถรับมือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ ปัญหาเหล่านั้นน่ากลัวกว่าปัญหา Y2K เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อใด รุนแรงขนาดไหน แต่ปัญหา Y2K นั้น เรารู้แน่นอนว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อใด เกิดขึ้นแล้วจะกระทบต่ออะไรบ้าง ทำให้เราสามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ล่วงหน้า

         ทั้งนี้ หากผู้บริหารของจังหวัดได้คลุกคลีหรือหมั่นติดตามข้อมูลปัญหา Y2K ที่จะเกิดขึ้นภายในจังหวัดอย่างใกล้ชิด จะสามารถประเมิน แยกแยะ และจัดลำดับความสำคัญของปัญหาได้อย่างถูกต้อง ทำให้การติดตามการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วย นอกจากนี้จะทำให้ทราบถึงความก้าวหน้าในการแก้ไข เพื่อเป็นข้อมูลประชาสัมพันธ์ให้ผู้สื่อข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งประชาชนหรือผู้ที่จะได้รับผลกระทบเกิดความสบายใจในการเตรียมความพร้อมของจังหวัดอีกด้วย

line.GIF (5301 bytes)

[Y2K Center] [Y2K FAQ] [Y2K Services] [Y2K Tools] [Newsroom] [Publication] [Feedback]

Please send your comment to y2kcenter@nectec.or.th
Copyright ฉ 1998 NECTEC / NSTDA All Rights Reserved.
National Electronics and Computer Technology Center, National Science and Technology Development Agency.
Ministry of Science Technology and Environment