กราบเรียน ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี
กระผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนาเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวันนี้
กระผม ขอรายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ของหน่วยงานภาครัฐ นับตั้งแต่ได้เริ่มดำเนินการ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ที่แตกต่างกันไปตามสภาพของปัญหาและทรัพยากรของหน่วยงานนั้น ๆ ขณะนี้การดำเนินงานโดยภาพรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่มีความสำคัญยิ่งยวดได้แก่หน่วยงานที่ให้บริการสาธารณูปโภค
และให้บริการที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ภาคการเงิน การธนาคาร เป็นต้น นับว่ามีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเกือบเสร็จสิ้นแล้ว และได้ก้าวเข้ามาสู่ในช่วงของการเตรียมการจัดทำแผนสำรองฉุกเฉินของหน่วยงานรวมทั้งการเตรียมการจัดตั้งศูนย์ประสานป้องกันและบรรเทาภัยจากปัญหา วาย ทู เค ระดับชาติ
คณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ซึ่งมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงานฯ ได้ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่คณะกรรมการฯ ได้ให้นโยบายไว้เพื่อให้การสนับสนุนและช่วยเหลือต่อหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานี้กิจกรรมหลัก ๆ ที่ได้ดำเนินการ ได้แก่
ประการแรก คือการเร่งรัดให้ความรู้การแก้ไขและป้องกันผลกระทบ>จากปัญหา วาย ทู เค ในส่วนภูมิภาคโดยความร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย ในการจัดเครือข่ายตั้งศูนย์ประสานและดำเนินการแก้ไขปัญหา วาย ทู เค ในภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการเผยแพร่ให้ความรู้และให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาค ซึ่งได้ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000
ในภูมิภาคต่าง ๆรวม 6 ครั้ง และมีผู้เข้าร่วมอบรมรวมทั้งสิ้น 691 คน โดยใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยในภาคนั้นๆ เป็นสถานที่อบรม เช่น ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น
ประการที่ 2 การจัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาเตรียมการด้านมาตรการกฎหมายเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ขณะนี้ได้จัดทำเป็นร่างพระราชกำหนดปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 เรียบร้อยแล้ว และกำลังจะนำเสนอคณะกรรมการประสานงานฯ และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
ประการที่ 3 ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดทำแผนสำรองฉุกเฉินในหน่วยงานภาครัฐ รวม 5 วัน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่มีระบบที่มีความสำคัญมาก มีแผนสำรองเพื่อรองรับการปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง ในกรณีที่แผนหลักนั้นได้รับผลกระทบจากปัญหานี้
สำหรับแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปในช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่นี้อีกประมาณ 128 วัน ได้เตรียมการดังนี้คือ
1. จัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบความพร้อมรับกับปัญหา วาย ทู เค
2. จัดตั้งศูนย์ประสานเพื่อประสานป้องกันและบรรเทาภัยจากปัญหาวาย ทู เค
3. จัดทำคู่มือประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการแก้ไขปัญหา วาย ทู เค เพื่อให้สามารถเตรียมตัวเองและไม่เกิดภาวะตื่นตระหนกได้
และสำหรับการสัมมนาในวันนี้ นับว่าเป็นการสัมมนาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากจังหวัดจะเป็นกลไกที่สำคัญ ในการบริหารงานในส่วนภูมิภาคและสามารถประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการพัฒนาจังหวัดหรือการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
คณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ในการจัดสัมมนาเรื่องการเตรียมความพร้อมรับการแก้ไขปัญหา วาย ทู เค ในระดับจังหวัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดได้รับรู้ปัญหาและผลกระทบจากปัญหา วาย ทู เค รวมทั้งได้รับทราบนโยบายและความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา วาย ทู เค ของประเทศไทย
ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ได้เตรียมการวางแผนเพื่อรองรับกับปัญหา วาย ทู เค ในจังหวัดให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของจังหวัดต่อไป
เนื่องจากปัญหา วาย ทู เค นับเป็นปัญหาระดับโลก และได้กลายเป็นตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือในการลงทุนของประเทศตัวหนึ่ง และการที่ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี ได้มาให้นโยบายแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้ นับว่าเป็นการประกาศนโยบายอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติอย่างแข็งขัน ย่อมส่งผลให้ความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติของไทยดียิ่งขึ้น
บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ผมใคร่ขอกราบเรียนเชิญ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายและกล่าวเปิดการสัมมนาต่อไป
ขอกราบขอบพระคุณ