กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรี ท่านปลัดกระทรวง ท่านทูต และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ท่านผู้บริหาร และท่านผู้เข้าสัมมนาที่เคารพ
ผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีอย่างยิ่งที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนาเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวันนี้
กระผมในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ขอรายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000ของหน่วยงานภาครัฐตามที่ได้รับดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ในภาครัฐตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เสนอเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2541 และจากมติคณะรัฐมนตรีนี้ ทำให้กระทรวง/ทบวง มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น 15 คณะ อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพปัญหาของคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ในภาครัฐมีขอบเขตที่กว้างขวาง และมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดความรุนแรงได้หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ถูกต้องและทันเหตุการณ์กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จึงได้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2541 ใน 4 ประเด็นคือ
ประเด็นที่ 1 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 เพื่อให้มีบทบาทเป็นองค์กรประสานงานระดับกระทรวง/ทบวง ซึ่งมีคณะกรรมการประเมินและแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ ปี ค.ศ. 2000 ของแต่ละกระทรวงทบวง อยู่แล้วเพื่อให้การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ประเด็นที่ 2 ให้กระทรวง/ทบวง หน่วยงานอิสระ และรัฐวิสาหกิจ รายงานผลการดำเนินงาน การประเมินและแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ต่อคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ทุก 2 เดือน และให้ดำเนินงานตามนโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการชุดนี้จัดทำขึ้น
ประเด็นที่ 3 ให้กระทรวง/ทบวง หน่วยงานอิสระและรัฐวิสาหกิจ กำหนดให้มีผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบเรื่องปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ของหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรทรัพยากรของหน่วยงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ของหน่วยงานด้วย
ประเด็นที่ 4 ให้กระทรวง/ทบวง หน่วยงานอิสระและรัฐวิสาหกิจ ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ตามความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อให้การดำเนินงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จากการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ 2000 ซึ่งได้มีการจัดประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง โดยในการประชุมแต่ละครั้งนั้น ได้มีการกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานให้กับหน่วยงานของรัฐรับไปดำเนินการ รวมทั้งได้เร่งรัดและติดตามให้มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ตลอด เช่น การจัดทำแผน Y2K ระดับกระทรวง การสำรวจและแยกประเภทของระบบงานเพื่อการแก้ไขปัญหาและการจัดทำแผนรองรับ การจัดทำแผนชาติ และการรายงานติดตามผลของแต่ละกระทรวงทุก 2 สัปดาห์ การจัดทำโปรแกรมการติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน เป็นต้น
นอกจากนี้คณะกรรมการประสานงานฯได้ดำเนินการจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวดขึ้น เพื่อดูแลความพร้อมของระบบที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคงของประเทศ ได้แก่ ระบบไฟฟ้าและพลังงาน ระบบโทรคมนาคม และการขนส่ง ระบบการเงินการคลัง และการประกันภัย ระบบที่เกี่ยวข้องกับความสงบสุขของประชาชนในประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่นานาอารยะประเทศที่เป็นพันธมิตรทางการค้าของประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ดูแลในการแก้ไขปัญหาของระบบต่างๆ เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง รวมทั้งการตรวจสอบระบบต่อกันด้วย ซึ่งได้มีการจัดเยี่ยมชมหน่วยงานต่างๆ บ้างแล้ว เช่น การสื่อสารแห่งประเทศไทย องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ไปยังการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และบริษัทการบินไทย จำกัด ซึ่งก็ได้รับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินงานแก้ไขปัญหา Y2K ในระดับที่น่าพอใจ
ในส่วนของงบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหานั้น คณะกรรมการประสานงานฯ ได้ประสานงานกับสำนักงบประมาณอย่างใกล้ชิดซึ่งสำนักงบประมาณได้ให้การรับรองว่ายังมีงบประมาณสำหรับในส่วนราชการเพื่อการแก้ไขปัญหา Y2K เพียงพออย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการแสวงหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ให้กับหน่วยงานต่างๆ โดยได้จัดทำเอกสารโครงการเงินกู้จาก OECF เพื่อใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหาซึ่งมีวงเงินตามคำขอประมาณ 4500 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
สำหรับในส่วนของภาคเอกชนนั้น นอกจากหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทในการกำกับการแก้ไขปัญหา Y2K อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แล้ว คณะกรรมการประสานงานฯยังได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม โดยได้มีการจัดสัมมนาเพื่อการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ร่วมกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ในส่วนภูมิภาคนั้นคณะกรรมการฯได้มีนโยบายให้สร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในสังกัดทบวงและกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างสถาบันเครือข่าย Y2K ในภูมิภาค และได้มีการดำเนินการจัดสัมมนาปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาวิทยากรเพื่อการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ให้กับบุคลากรจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาค เมื่อเดือนมกราคม 2542 ที่ผ่านมานี้ โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันการศึกษาเหล่านั้นทำหน้าที่ให้คำแนะนำช่วยเหลือแก่หน่วยงานต่างๆ ในภูมิภาคอย่างทั่วถึงมากขึ้น
และสำหรับในกิจกรรมอื่นๆ ที่ได้ดำเนินการ ได้แก่ การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ การจัดทำ Web Page ที่จะรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องการสัมภาษณ์และออกอากาศเผยแพร่ทางวิทยุโทรทัศน์ และนิตยสาร วารสารต่างๆ รวมทั้งการจัดวิทยากรร่วมบรรยายให้กับหน่วยงานต่างๆ ด้วย ซึ่งธนาคารโลกก็ได้รายงานว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการรณรงค์ให้เกิดความตื่นตัวอยู่ในลำดับที่สูง
การสัมมนาในวันนี้ นับว่าเป็นการสัมมนาที่สำคัญอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้เคยจัดสัมมนามาแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรับทราบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ของทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ทุกหน่วยงานรวมทั้งสิ้นกว่า 270 หน่วยงาน ขณะนี้ขั้นตอนต่างๆ ทั่วไปได้เข้ามาสู่ขั้นตอนการแก้ไขและทดสอบ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญและใช้ทรัพยากรต่างๆ มาก โดยการจัดสัมมนาในวันนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ ประการแรก เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถเข้าใจทิศทางและขั้นตอนการบริหารโครงการแก้ไขปัญหา Y2K ได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะด้านการจัดหาทรัพยากรเพื่อการแก้ไขปัญหาการทำแผนฉุกเฉินการคุ้มครองผู้บริโภค และประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับปัญหา Y2K และประการที่สองคือ เพื่อให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นต่อแผนการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปแบบ และเชื่อถือได้ ซึ่งกระผมเห็นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน เนื่องจากปัญหา Y2K นับเป็นปัญหาระดับโลกและได้กลายเป็นตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือในการลงทุนของประเทศตัวหนึ่ง