Y2K ของไทยก้าวหน้าได้เลื่อนอันดับแก้ปํญหามาอยู่กลุ่ม 2 และเร่งออกพระราชกำหนด
ศูนย์ประสานและดำเนินการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 (Y2K Center) จัดให้มีการแถลงข่าวเพื่อรายงานความคืบหน้า และการเตรียมความพร้อมรับต่อปัญหา Y2K ของหน่วยงานในภาครัฐ โดยมี ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ประธานคณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 เป็นประธานในการแถลงข่าว พร้อมด้วย นายสันทัด สมชีวิตา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี และผู้อำนวยการศูนย์ประสานและดำเนินการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000
จากการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่าน ในวาระของการเสนอความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหา Y2K นั้น ทางคณะกรรมการฯ ได้มีความเป็นห่วงเพราะปัญหา Y2K อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว และได้ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เสนอรายงานความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหา Y2K ในภาครัฐต่อที่ประชุม ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เสนอรายงานว่า ตามนโยบายของคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ได้กำหนดให้ทุกกระทรวง ทบวงและหน่วยงานอิสระจัดส่งรายงานความก้าวหน้า โดยใช้โปรแกรมมาตรฐานเดียวกันที่พัฒนาขึ้นโดยได้รวบรวมสิ้นสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2542มีดังนี้
ความก้าวหน้าในภาพรวมของภาครัฐทั้งหมด ได้รับรายงานจากกระทรวงทุกกระทรวง ทบวง รวมทั้งหน่วยงานอิสระ สำหรับกระทรวงกลาโหมนั้น ได้รับข้อมูลจากกระทรวงแล้ว แต่ข้อมูลเป็นความลับไม่สามารถเปิดเผยได้ สำหรับรายงานความก้าวหน้าโดยภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีความสำคัญยิ่งยวดค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากมีการติดตามค่อนข้างเข้มงวดทั้งภายในหน่วยงาน ระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่นานาชาติกำหนด
สำหรับประเทศไทยในสายตาของนานาชาติแล้ว มีรายงานดังนี้คือ ธนาคารโลกจัดลำดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีลำดับความตื่นตัวในการรับรู้ปัญหาในลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ บริษัท Gartner Group เคยจัดลำดับไว้คือ พฤศจิกายน 2541 ได้ลำดับ 4 เป็นกลุ่มที่มีระบบที่ยังไม่ได้แก้ไขมากกว่าร้อยละ 50 เดือนมีนาคม 2542 ได้ลำดับ 3 เป็นกลุ่มที่มีระบบที่ยังไม่ได้แก้ไขระหว่างร้อยละ 33-50 และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ลำดับ 2 เป็นกลุ่มที่มีระบบที่ยังไม่ได้แก้ไขระหว่าง 15-33 ซึ่งค่อนข้างดี
ส่วนแผนการณ์ในอนาคตที่จะต้องจัดให้มีความพร้อมมากที่สุดคือ 1) การเตรียมสัมมนาผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้รับทราบ และเป็นผู้บริหารภาวะฉุกเฉินของจังหวัด ขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมการ 2) การเร่งรัดให้หน่วยงานได้จัดส่งรายงานให้ครบถ้วน เพื่อการติดตามและประเมินปัญหาเป็นไปอย่างถูกต้อง 3) ร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย วางแผนจัดอบรมเกี่ยวกับความรู้การแก้ไข และการป้องกัน ทั่วประเทศประมาณ 7 ครั้งในเดือนพฤษภาคม- มิถุนายน 4) จัดเตรียมคู่มือประชาชนเพื่อการรับรู้ถึงปัญหาอย่างเข้าใจ และ 5) เตรียมออกพระราชกำหนด เพื่อป้องกันผลกระทบจากปัญหา Y2K ซึ่งในปัจจุบันนี้คณะอนุกรรมการฯ ทำหน้าที่ศึกษาและยกร่างนำเสนอต่อไป