รองนายกฯ ตรวจ Y2K ที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ผลระบบส่งไฟฟ้าผ่าน 100%
ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ประธานคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช.) ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวด และดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานแก้ไขปัญหา Y2K
และร่วมเป็นสักขีพยานในโอกาสที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทดสอบการจำลองสถานการณ์ปี ค.ศ. 2000 ณ โรงไฟฟ้าบางปะกง
ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) กล่าวว่าทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหา Y2K เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องรีบแก้ไข
ในด้านไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญยิ่งยวดด้านหนึ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญ เพราะไฟฟ้าถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ และเป็นที่น่ายินดีว่า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้รายงาน ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า มีความก้าวหน้าไปมากโดยเฉพาะระบบส่งไฟฟ้า ซึ่งแก้ไขผ่าน Y2K แล้ว 100% จากการได้เยี่ยมชมและเห็นการทดสอบจำลองสถานการณ์ปี
ค.ศ. 2000 ในวันนี้แล้วก็รู้สึกมีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าปีใหม่นี้เราจะมีไฟฟ้าใช้เช่นปกติแน่นอน
ส่วนความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา Y2K ของกลุ่มไฟฟ้าและพลังงานที่ได้รับรายงานล่าสุด ผลออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ หลายหน่วยงานแก้ไขแล้ว 100% เช่น การไฟฟ้านครหลวง
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ส่วนกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานไม่มีระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวด แต่ก็ได้แก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาแล้ว นอกจากนี้ในวันที่ 23
สิงหาคมที่จะถึงนี้จะมีการจัดแถลงข่าวใหญ่ของกลุ่มที่มีระบบความสำคัญยิ่งยวดทั้ง 4 กลุ่มโดยพร้อมเพรียงกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกำหนดการจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
นายดนัย มโนภาส ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. มีภารกิจในการผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ผู้บริโภคอย่างเพียงพอ มั่นคง
มีประสิทธิภาพในราคาที่เป็นธรรม โดยให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการแก้ไขปัญหา Y2K ของ กฟผ. นั้นได้ใช้มาตรฐานของ BSI เป็นตัววัด
ส่วนระบบงานของ กฟผ. ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหา Y2K นั้น มีอยู่ 3 ระบบด้วยกัน คือระบบผลิตไฟฟ้า, ระบบส่งไฟฟ้า และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
ซึ่งความคืบหน้าในการดำเนินการโดยภาพรวมทั้งหมดคิดเป็น 92% โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การดำเนินการแก้ไขในระบบต่างๆ
1.1 ระบบผลิตไฟฟ้า แล้วเสร็จ 89%
1.2 ระบบส่งไฟฟ้า แล้วเสร็จ 100%
1.3 ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แล้วเสร็จ 99%
2. การตรวจสอบ Supply Chain 80%
3. การจัดทำแผนสำรองฉุกเฉิน 80%
ด้านงบประมาณ กฟผ. ได้จัดสรรงบประมาณไว้ 476 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการแก้ไขปัญหา Y2K ส่วนแผนสำรองฉุกเฉินนั้น
ได้มีการศึกษาวางแผนงานในระบบผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าไว้แล้ว รวมทั้งมีการจัดฝึกอบรมแผนฉุกเฉินแก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย และในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายนนี้
จะได้มีการประสานงานในกลุ่มไฟฟ้าและพลังงาน เพื่อวางแผนทดสอบแผนฉุกเฉินร่วมกันต่อไป
จากการดำเนินการอย่างตั้งใจมาตลอด กฟผ. มั่นใจว่าการให้บริการไฟฟ้าจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจาก Y2K เพื่อให้เกิดความสงบสุขของสังคมและความมั่นคงของประเทศไทย