Welcome to The Official Website of The National Y2K Coordination Committee
Y2K Newsletter
NEWS

รองนายกฯ ตรวจ Y2K ที่โรงไฟฟ้าบางปะกง
ผลระบบส่งไฟฟ้าผ่าน 100%

รองนายกฯ

         เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ประธานคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 พร้อมด้วย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวด และ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานแก้ไขปัญหา Y2K ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ โรงไฟฟ้าบางปะกง

         ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) กล่าวว่าเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหา Y2K เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องรีบแก้ไขในด้านไฟฟ้าซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญยิ่งยวดหน่วยงานหนึ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญ เพราะไฟฟ้าถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้และเป็นที่น่ายินดีว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้รายงานความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่ามีความก้าวหน้าไปมากโดยเฉพาะระบบส่งไฟฟ้า ซึ่งแก้ไขผ่าน Y2K แล้ว 100% จากการได้เยี่ยมชมและเห็นการทดสอบจำลองสถานการณ์ปี ค.ศ. 2000 ในวันนี้แล้วก็รู้สึกมีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าปีใหม่นี้เราจะมีไฟฟ้าใช้แน่นอน

         ส่วนความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา Y2K ของกลุ่มไฟฟ้าและพลังงานที่ได้รับรายงานล่าสุดผลออกมาเป็นที่น่าพอใจหลายหน่วยงานแก้ไขแล้ว 100% เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ส่วนกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานไม่มีระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวดแต่ก็ได้แก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาแล้ว

เยี่ยมชม

         นายดนัย มโนภาส ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. มีภารกิจในการผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ผู้บริโภคอย่างเพียงพอมั่นคงมีประสิทธิภาพในราคาที่เป็นธรรมโดยให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการแก้ไขปัญหา Y2K ของ กฟผ. นั้นได้ใช้มาตรฐานของ BSI (British Standard Institute) เป็นตัววัด

         ส่วนระบบงานของ กฟผ. ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหา Y2K นั้น มีอยู่ 3 ระบบด้วยกันคือ ระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งความคืบหน้าในการดำเนินการโดยภาพรวมทั้งหมดคิดเป็น 92% โดยมีรายละเอียดดังนี้

         1. การดำเนินการแก้ไขระบบต่างๆ

  • ระบบผลิตไฟฟ้า แล้วเสร็จ 100%
  • ระบบส่งไฟฟ้า แล้วเสร็จ 100%
  • ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแล้วเสร็จ 99%

         2. การตรวจสอบ Spply Chain 80%

         3. การจัดทำแผนสำรองฉุกเฉิน 80%

ผลการ Roll Over ผลการ Roll Over ของเครื่องควบคุม เป็นวันที่ 9/91999, 1/1/2000, และ 29/2/2000

         ด้านงบประมาณ กฟผ. ได้จัดสรรงบประมาณไว้ 476 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการแก้ไขปัญหา Y2K ส่วนแผนสำรองฉุกเฉินนั้นได้มีการศึกษาวางแผนงานในระบบผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าไว้แล้ว รวมทั้งมีการจัดฝึกอบรมแผนฉุกเฉินแก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย  และในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้ จะได้มีการประสานงานในกลุ่มไฟฟ้าและพลังงาน เพื่อวางแผนทดสอบแผนฉุกเฉินร่วมกันต่อไป

บรรยาย

         โรงไฟฟ้าบางปะกงถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอีกทั้งได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา Y2K เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ทำการทดสอบเครื่องควบคุมการผลิตไฟฟ้าโดยการ Roll Over เป็นวันที่ 9/9/1999, 1/1/2000 และวันที่ 29/2/2000 ผลการทดสอบปรากฏว่าระบบทุกระบบสามารถทำงานได้อย่างปกติไม่มีอะไรติดขัด

         นอกจากนี้ทางโรงไฟฟ้าบางปะกงได้เตรียมแผนฉุกเฉินไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น ถ้าหากในกรณี ปตท. ไม่สามารถส่งน้ำมันให้ได้ หรือน้ำมันหมดก็สามารถใช้ก๊าซแทนได้ ซึ่งในส่วนของเชื้อเพลิงได้มีการสำรองไว้อยู่แล้วจึงไม่น่าเป็นห่วง และถ้าหากโรงไฟฟ้าโรงใดโรงหนึ่งเกิดขัดข้องทางโรงไฟฟ้าบางปะกง หรือโรงไฟฟ้าหน่วยอื่นๆ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าส่งไปช่วยเหลือได้ และในวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา จะดำเนินการซ้อมใหญ่ในเรื่องของแผนฉุกเฉินอีกด้วยเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ซักซ้อมความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว และเพื่อเป็นการทดสอบถึงความเป็นไปได้ของแผนที่กำหนดไว้

         จากการดำเนินการอย่างตั้งใจมาตลอด กฟผ. มั่นใจว่าการให้บริการไฟฟ้าจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจาก Y2K เพื่อให้เกิดความสงบสุขของสังคมและความมั่นคงของประเทศไทย

line.GIF (5301 bytes)

[Y2K Center] [Y2K FAQ] [Y2K Services] [Y2K Tools] [Newsroom] [Publication] [Feedback]

Please send your comment to y2kcenter@nectec.or.th
Copyright ฉ 1998 NECTEC / NSTDA All Rights Reserved.
National Electronics and Computer Technology Center, National Science and Technology Development Agency.
Ministry of Science Technology and Environment