กลุ่มนี้เป็นหน่วยงานที่สังกัดในกระทรวงคมนาคมทั้งสิ้น และมีสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยประสานงานของกลุ่ม
ภาพรวมของกลุ่มนี้ ประกอบไปด้วยหน่วยงานทั้งราชการ และรัฐวิสาหกิจจำนวน 9 หน่วยงาน มีระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวดรวมกันทั้งสิ้น จำนวน 37 ระบบ ระบบที่มีความสำคัญมาก 68 ระบบ และระบบที่มีความสำคัญรองลงไป
จำนวน 31 ระบบ ภาพรวมของกลุ่มได้แก้ไขระบบงานต่างๆ ได้แล้วเสร็จเกือบทั้งหมด โดยในกลุ่มระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวดนั้น ได้แก้ไขแล้วเสร็จเกือบครบทุกหน่วยงานแล้ว โดยมีความก้าวหน้าเท่ากับร้อยละ 98 สำหรับรายงานความก้าวหน้าของแต่ละหน่วยงานโดยสรุปมีดังนี้
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
มีระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวดจำนวน 15 ระบบ ระบบที่มีความสำคัญมาก 24 ระบบ และระบบที่มีความสำคัญรองลงไป จำนวน 48 ระบบ โดยเป็นระบบที่เป็นซอฟต์แวร์ประมาณ 35,000 โปรแกรม มีจำนวนบรรทัดโดยประมาณ 15 ล้านบรรทัด นอกจากนั้นยังมีระบบที่เป็น Embedded system หลายระบบ เช่น ระบบต่างๆ บนอากาศยาน เครื่องบินจำลอง เป็นต้น
ระบบต่างๆ ที่มีความสำคัญยิ่งยวดเหล่านี้ได้รับการแก้ไขแล้วเสร็จ 100% โดยใช้กำลังคนกว่า 40,000-50,000 man-day ใช้เงินงบประมาณไปประมาณ 300 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดทำแผนสำรองฉุกเฉิน และคาดว่าจะทดสอบได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2542
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ธปท.)
รายงานว่ามีระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวดจำนวน 8 ระบบ ระบบที่มีความสำคัญมากจำนวน 2 ระบบ และระบบที่มีความสำคัญรองลงไปจำนวน 2 ระบบ ระบบต่างๆ ทั้งหมดนี้ได้แก้ไขแล้วเสร็จหมดทั้งสิ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2542 โดยเป็นซอฟต์แวร์ที่ได้แก้ไขประมาณ 380 โปรแกรม รวมเป็นบรรทัดเท่ากับ 251,527 บรรทัด
สำหรับระบบที่สำคัญอีกระบบหนึ่งได้แก่ ระบบชุมสาย ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้วรวม 295 ชุมสาย การแก้ไขได้ใช้ทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวน 3,375 man-month และใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 93,318,753 บาท ได้มีการทดสอบระหว่างระบบ ทั้งระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันได้ว่าจ้างบริษัทภายนอกเพื่อตรวจสอบซ้ำ (Audit) งานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ตลท.)
รายงานว่ามีระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวดจำนวน 14 ระบบ ระบบที่มีความสำคัญมากจำนวน 36 ระบบ และระบบที่มีความสำคัญรองลงไปจำนวน 3 ระบบ โดยแบ่งเป็นระบบธุรกิจต่างๆ คือ บริการโทรคมนาคม ระบบ/อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบ/อุปกรณ์ไปรษณีย์ ระบบต่างๆ ที่มีความสำคัญยิ่งยวดทั้งหมดนี้ได้แก้ไขแล้วเสร็จหมดทั้งสิ้นเมื่อเดือนมิถุนายน
2542 โดยเป็นซอฟต์แวร์ที่ได้ตรวจสอบ/แก้ไขประมาณ 1,112,450 บรรทัด ได้มีการทดสอบร่วมกับต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน ไม่พบปัญหาของการแก้ไข ทรัพยากรบุคคลที่ได้ใช้ไปเป็นจำนวน 140 คน และใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น ประมาณ 160 ล้านบาท
การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย
มีระบบต่างๆ แบ่งออกเป็น 9 ระบบใหญ่ ได้แก่ ระบบบริการสนามบิน ระบบบริการสัมภาระ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบสื่อสาร ระบบอำนวยความสะดวก ระบบบริการผู้โดยสาร ระบบอุตุนิยมวิทยา และระบบ ATC อีก 2 ระบบ ระบบทั้งหมดได้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขหมดแล้ว โดยมีการแก้ไขร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กรมศุลกากร และกรมอุตุนิยมวิทยา
สำหรับงบประมาณนั้นได้ใช้งบประมาณปี พ.ศ. 2542 เป็นเงิน 14,454,000 ล้านบาท และได้ตั้งงบประมาณปี พ.ศ. 2543 รองรับไว้อีก 28,718,250 บาท
บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
มีระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวดจำนวน 7 ระบบ สำหรับระบบที่พบอีกเพียงหนึ่งระบบเป็นระบบที่มีความสำคัญรองลงไป
การแก้ไขปัญหาระบบทั้ง 7 ระบบข้างต้นนั้น บริษัทได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัทจากภายนอกมาแก้ไขแล้วเสร็จทั้งหมดเมื่อเดือนมิถุนายน 2542 โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเข้าร่วมการแก้ไขจำนวน 50 คน และใช้งบประมาณไปรวมทั้งสิ้น 100 ล้านบาท สำหรับแผนฉุกเฉินนั้นมีกำหนดจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2542 นี้
กรมการบินพาณิชย์
ปัจจุบันได้โอนหน้าที่ปฏิบัติการให้แก่บริษัทวิทยุการบินแล้ว จึงทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่บริหารและกำกับนโยบาย จึงไม่มีระบบที่มีความสำคัญแต่อย่างใด ยกเว้นระบบงานบริการที่ท่าอากาศยานภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระบบ Embedded system เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบไฟฟ้าสนามบิน เป็นต้น ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบ และทดสอบร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น บริษัทการบินไทย บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย แล้วไม่พบปัญหาแต่อย่างใด
การท่าเรือแห่งประเทศไทย
รายงานว่าไม่มีระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวด แต่มีระบบที่มีความสำคัญมากจำนวน 17 ระบบ และระบบที่มีความสำคัญรองลงไป จำนวน 2 ระบบ ปัจจุบันได้ดำเนินการแก้ไขในระบบที่มีความสำคัญมากแล้วเสร็จไปแล้ว 10 ระบบ ส่วนที่เหลือมีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 70-90 ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมแผนสำรองฉุกเฉินสำหรับระบบต่างๆ ข้างต้น การแก้ไขได้ว่าจ้างหน่วยงานภายนอกร่วมกับการดำเนินการโดยบุคลากรภายในจำนวน
100 man-month และใช้งบประมาณ 53.58 ล้านบาท
กรมอุตุนิยมวิทยา
มีระบบที่มีความสำคัญยิ่งยวด สำคัญมาก และสำคัญรองลงไป จำนวน 5, 2 และ 3 ระบบ ตามลำดับ อาทิเช่น ระบบสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ระบบสัญญาณภาพถ่ายดาวเทียม ระบบเครือข่ายเรดาร์ตรวจอากาศ เป็นต้น ปัจจุบันได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้วประมาณร้อยละ 89 และคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนสิงหาคม 2542 และสามารถทดสอบใช้งานได้ภายในเดือนกันยายน 2542 งบประมาณสำหรับการแก้ไขทั้งสิ้น 60.8 ล้านบาท
การรถไฟแห่งประเทศไทย
รายงานว่ามีเพียงระบบที่มีความสำคัญมาก และสำคัญรองลงไปจำนวน 2 ระบบ ได้แก่ ระบบควบคุมการปฏิบัติการ (Operating Control System : OCS) และระบบ PABX สำหรับระบบที่มีความสำคัญรองลงไป 6 ระบบ มีอาทิเช่น ระบบควบคุมการเดินรถจากศูนย์กลาง (CTC) ระบบงานคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล เป็นต้น ปัจจุบันได้ดำเนินการแก้ไขมีความก้าวหน้าเท่ากับร้อยละ 78 และร้อยละ 56 ตามลำดับ ได้เขียนแผนสำรองฉุกเฉินของระบบต่างๆแล้ว
คาดว่าจะสามารถทดสอบภายในเดือนตุลาคม 2542 ทรัพยากรที่ใช้เป็นบุคลากรประมาณ 50 คน และงบประมาณที่ใช้ 9 ล้านบาท